เปิดงาน NSTDA-KU Rice Field Day2023 งานแสดงพันธุ์ข้าวใหม่

DSC02572

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมกันจัดงานแสดงพันธุ์ข้าวใหม่ “NSTDA-KU Rice Field Day 2023” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวต้อนรับ  ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวรายงานการจัด NSTDA KU Rice Field Day 2023 และในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และสุดท้าย ศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร กล่าวความเป็นมาของหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และ เป้าหมายของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพสายพันธุ์ข้าวดีเด่นที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบแม่นยำ ในภาคสนามแปลงนา และยังเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดจากผลงานวิจัยให้กับนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและเกษตรกรได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว เพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ และพันธุกรรมข้าวที่ได้รับการพัฒนาโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและภาคเอกชน

กิจกรรมที่สำคัญภายในงาน ประกอบด้วย

  • การชิมข้าวพันธุ์ใหม่ (ข้าวเจ้า ข้าวเจ้าหอม ข้าวเหนียว และข้าวเหนียวหอม)
  • การให้บริการเชิงวิชาการจีโนมิกส์ สำหรับการปรับปรุงพันธุ์
  • การสร้างความร่วมมือเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์
  • ชมแปลงนาสาธิต (ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ดูทรงต้น ดอก และรวง)

และในวันเดียวกันยังมีการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวเพื่ออนาคตรับโลกรวน อาทิ ห้วข้อ “การพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการ Tailor made rice varieties” โดย ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และหัวข้อ “แนะนำพันธุ์ข้าวเพื่ออนาคตรับโลกรวน” โดย ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และการเสวนาเกี่ยวกับ AgriOmics การใช้ประโยชน์และการบริการวิชาการ อาทิ หัวข้อ “การใช้ประโยชน์และการบริการฐานข้อมูลข้าวไทย และการออกแบบพันธุ์ข้าวตามความต้องการ” โดย ดร. สามารถ วันชะนะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หัวข้อ "การให้บริการของห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี และ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก" โดย ดร. ศิริพัฒน์ เรืองพยัคฆ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวข้อ "การให้บริการวิเคราะห์จีโนม" โดย รศ. ดร. ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมไปถึง หัวข้อ"การใช้ประโยชน์และการให้บริการเทคโนโลยีจีโนมิกส์ในอุตสาหกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์" โดย ดร. วินิตชาญ รื่นใจชน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และหัวข้อ “การให้บริการของห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี และ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก และหัวข้อสุดท้าย “แนะนำบริการวิชาการประเมินลักษณะต้านทานต่อโรคและแมลงในข้าว” โดย ดร. วัชรีวรรณ แจ่มบุญศรี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นต้น ณ ห้องประชุมคณะอุตสาหกรรมบริการ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม กิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นการเยี่ยมชมนิทรรศการ ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ประกอบด้วย 

กิจกรรมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้แก่

  • DNA genotyping KASP’LGC
  • Pice database platform

กิจกรรมบริเวณนิทรรศการจัดแสดง ได้แก่

  • นิทรรศการจัดแสดงด้านพันธุ์ข้าว
  • นิทรรศการจัดแสดงด้านการประเมินลักษณะความต้านทานต่อโรคและแมลง
  • นิทรรศการจัดแสดงไลน์บอทโรคข้าว (Rice Disease Linebot)
  • นิทรรศการจัดแสดง RiceFit ระบบแนะนำพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวในแต่ละพื้นที่และฤดูกาล
  • นิทรรศการจัดแสดงการใช้น้ำของข้าว และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • นิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีโอมิกส์ จาก National Omics Center (NOC)
  • นิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ
  • นิทรรศการจัดแสดงงานวิจัยในมะเขือเทศ และกัญชา
  • นิทรรศการจัดแสดง BCG มะพร้าว
  • จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ข่าว/ภาพ โดย: นางสาวดวงนภา วนิชกุลพิทักษ์