ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง อว. เยี่ยมชมกิจการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2565 ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะเยี่ยมชมกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อร่วมประชุมหารือ และเยี่ยมชมผลงานทางวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ อาทิ อาคารแสดงนวัตกรรมและผลงานทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ (iGEAR cafe' & innovation) คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ เรือนเกษตรอภิรมย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง (Central Lab) และศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตร กำแพงแสน รวมทั้งติดตามการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) หรือมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ U2T ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยมี รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน และคณะผู้บริหาร คณะทำงานร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเยี่ยมชมพร้อมรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงาน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาดำเนินโครงการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลให้เกิดการจ้างงานประชาชน บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษาให้มีงานทำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 พร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำงานของทีม U2T ทุกภาคส่วน

ซึ่งในวันเดียวกัน ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. และคณะ เข้าเยี่ยมชมคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ซึ่งได้พบกับน้องเปาเปา ช้างน้อยที่กำลังรอการรักษาผ่าตัดตาอยู่ในบริเวณคลินิก โอกาสนี้ได้ร่วมพูดคุยกับทางนักวิจัยสัตวแพทย์ถึงแนวทางการขยายผลการรักษาช้างและสัตว์ป่า และการศึกษาดูงานในส่วนของการอนุรักษ์ช้างไทยด้วย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ U2T (Phase 1) จำนวน 17 ตำบลใน 4 อำเภอของจังหวัดนครปฐม และจำนวน 1 ตำบลใน 1 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมี รองศาสตราจารย์วินัย พูลศรี คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ เป็นประธานคลัสเตอร์ 7 มหาวิทยาลัยได้ส่งตัวแทนเป็นผู้จัดการตำบลแต่ละตำบลเข้าไปทำหน้าที่เป็นหน่วยบูรณาการและประสานการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายท้องถิ่น อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้านและโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมถึงการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน และให้มีการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่น ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม การเกษตร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม” เพื่อผลิตบัณฑิตและปราชญ์ชาวบ้าน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการนำประสบการณ์ความรอบรู้ ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นส่วนบุคคลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสังคม และการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง รวมถึงการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นนำมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า และมีประสิทธิผลต่อสังคมโดยรวม สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ U2T (Phase 2) ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม จำนวน 13 ตำบลใน 3 อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 10 ตำบลใน 5 อำเภอ และจังหวัดราชบุรี จำนวน 9 ตำบลใน 2 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 32 ตำบล ต่อไป

ข่าว/ภาพ โดย: นางสาวดวงนภา วนิชกุลพิทักษ์

สามารถดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/1ZNtKhEz1cONo8G2vhuuvPfM5xEcC86Zp?usp=sharing